Tuesday, September 22, 2009

“นั่งปั่นหู ดูปลาเข้ายอ”







“นั่งปั่นหู ดูปลาเข้ายอ”
อาชีพทำเงินแบบสบาย ๆ สไตล์ “ชลิต ศักดิ์เกิด” นักดำน้ำจับปลาแห่งลุ่มน้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช
19 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาเป็นวันสาร์ทไทย ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีเพราะได้มีโอกาสไปทำบุญ“ส่งเปรตปล่อยเคราะห์”กับเขาสักที พอดี คุณพรชัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ชวนไปเยี่ยมญาติและร่วมทำบุญเดือนสิบ ตามประเพณีเก่าแก่ของพี่น้องชาวใต้ และผมก็มีเป้าหมายอีกที่หนึ่งที่ใกล้ๆกัน นั่นก็คือ "แหลมตะลุมพุก" สถานที่ ที่มีเรื่องราวเล่าขานในอดีตอันน่าสะเทือนใจจากความโหดร้ายของมหันตภัย ของพายุโซนร้อน ที่ชื่อว่า "Harriht"เมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม 2505 เกือบ 50ปี ผ่านมา คร่าชีวิตชาวประมงที่อาศัยอยู่บริเวณแห่งนี้ ประมาณเกือบ3,000 ศพ และบ้านเรือนเสียหายหมดทั้งแหลม มีผู้คนที่หลงเหลือรอดตาย แต่ในจิตใจเต็มไปด้วยบาดแผลบาดลึกจากความสูญเสียยากเกินเยียวยา เพียงไม่กี่ร้อยคน นี่จึงเป็นปฐมบทของการกำเนิด"มูลนิธิราชประชานุเคราะห์"จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานความช่วยเหลือชาวบ้านที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ มหันตภัยในครั้งนั้นกว่า1,300 คน เรื่องแหลมตะลุมพุก ขอพักไว้ก่อนไว้เล่าวันหลัง วันนี้ขอแบบเบาๆสบายๆ ก่อนก็แล้วกัน หลังจากทำบุญเรียบร้อยแล้ว(มาทำบาปต่อ)คุณพรชัย เจ้าถิ่นได้ชวนไปพบปะเยี่ยมญาติที่มีมากมายหลายท่าน จนมาติดใจที่นี่ สถานที่ตั้งของบ้านติดชายน้ำ แม่น้ำปากพนัง ด้านหลังเปิดรับลมแม่น้ำโล่ง ลมพัดเย็นสบายคลายร้อนจากอากาศที่ค่อนข้างอบอ้าว ประกอบกับที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจ ตื่นตา ตื่นใจ กับ ยอขนาดยักษ์ อยู่หน้าระเบียงชายน้ำ ทำให้ลืมไปเลยว่าเพิ่งรับศีล 5 มา เลียบเคียงถามเจ้าของบ้านคือ คุณ“ชลิต ศักดิ์เกิด”ผู้กว้างขวางแห่งอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ญาติผู้น้องตระกูล บัวสอน มีศักดิ์เป็นน้าของคุณพรชัย เดิมมีอาชีพดำน้ำ งมจับปลาและกุ้งแม่น้ำ จากสายน้ำแห่งนี้ขายเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวมากว่า 30 ปี จนเป็นมือวางอันดับหนึ่งในลุ่มน้ำแห่งนี้ ปัจจุบันอายุมากแล้ว ประกอบกับภาระการส่งเสียเลี้ยงดูบุตร 3 คน จนเรียนจบชั้นปริญญากันทุกคน ผ่านพ้นไปแล้วจึงปลดระวางตัวเอง แต่ใจยังรักอาชีพด้านนี้อยู่ จึงได้พัฒนาอาชีพตนเอง ประกอบกับมีโครงการกั้นเขื่อนปากพนักตามพระราชดำริฯ เกิดขึ้นเพื่อนำน้ำไปใช้ในด้านการเกษตร และป้องกันน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน ดังนั้นจึงส่งผลให้แม่น้ำปากพนังมีปลาชุกชุม จึงเป็นที่มาของการ“ทำยอยักษ์”คุณน้าชลิตบอกว่าทำมากว่า 6 ปีแล้ว ครั้งแรกลงทุนไปเกือบ 5 หมื่นบาท เป็นค่าเสาไม้ ตาข่ายอวน รอก เชือก เหล็ก และมอเตอร์ไฟฟ้า
ซึ่งขั้นตอนการทำก็ยากพอสมควร เพราะต้องใช้เรือเครนยก ตอกเสา ผูกเชือกและติดรอก แต่หลังจากทำเสร็จแล้ว ก็คุ้มค่าพอเลี้ยงชีพได้ โดยไม่ลำบากนัก วันหนึ่งยกยอได้กว่า 10 ครั้ง ได้ปลาและกุ้งรวมๆกันประมาณครั้งละ 2–5 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย ยกชั่วโมงละครั้ง ถ้าเป็นกุ้งขายกิโลละ 100 บาท ปลาก็แยกขายตามชนิดและขนาด ที่ขายได้ราคาดีคือขายกุ้งตัวเป็นๆ ที่นักตกปลานิยมนำไปทำเหยื่อตกปลา ขายตัวละ 2 บาท ซึ่งมีคนมาสั่งซื้อจากหลายที่ ทั้งในและต่างจังหวัด รวมแล้วมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาท นับว่าคุ้ม "ลงทุนเพียงครั้งเดียว สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้นาน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู้กับสภาพแวดล้อมด้วย ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็เพราะที่ลุ่มน้ำปากพนังแห่งนี้ยังมีความสมบูรณ์ของป่าชายเลน แต่หากป่าชายเลนเสียหายลดน้อยลง กุ้งปลาที่ได้ก็น้อยลงด้วย" น้าชลิตกล่าว หากท่านมีโอกาสไปอำเภอปากพนัง สามารถไปนั่งลุ้นดูปลาเข้ายอ หรือจะทดลองยกเอง ก็ไปได้ที่บ้านเลขที่ 197/1 ถนนชายน้ำ ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือจะโทรสั่งซื้อปลาซื้อกุ้งล่วงหน้าได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-7533-3682,08-5470-2851 รับรองว่าไม่ผิดหวังครับสดแน่นอน เพราะเป็นๆ ไหนๆก็มาแล้ว ไม่ลองดูก็ถือว่ามาไม่ถึงก็เลย ขอให้น้าชลิต ยกให้ดูเป็นตัวอย่าง ซะเลย และหลังจากนั้นก็คิดเมนูด่วนตรงหน้ายอนี่ละ กุ้ง สดๆ เป็นๆ ต้องแช่น้ำปลา เจ้าของบ้านก็ดีใหาย สนับสนุนเครื่องปรุงเต็มที่ ไม่นาน เมนูด่วนจานแรกกุ้งแช่น้ำปลาก็พร้อม ไวเท่าความคิดหน้าบ้านมีร้านขายของชำเปิดให้บริการแทบจะ 24 ชม.ว่าแล้วก็หาเครื่องดืมประเภทแอลกอฮอล์ มาเคียงซักนิดนึง
แล้วถึงจะนึกเมนูต่อไปพร้อมๆ กับกุ้งแช่น้ำปลาสดๆที่กำลังจะหมดไป นานๆที ที่มีโอกาสได้ลิ้มรสกุ้งสด ๆ ตัวเป็น ๆ เลยปักหลักอย่างเกรงใจจนค่ำ

ศิริวิชญ์ ดอกแก้ว รายงาน

Sunday, September 13, 2009

ตามรอยวิถีพอเพียงริมกรุง..






2วัน1คืนที่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุ๊กตั๊กวา หนองจอก กรุงเทพมหานคร
"คุณทำได้แต่..ยังไม่ได้ทำ"

ตาบา - ตากใบ นราธิวาส จุดเชื่อมเศรษฐกิจไทย-มาเลย์